6 วิธี แก้ปัญหาเพื่อนบ้านเสียงดัง

🗣️มีเพื่อนบ้านดี มีชัยไปกว่าครึ่ง! เพราะหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัยอย่างมีความสุข คือ เพื่อนบ้าน และปัญหายอดฮิตที่เกือบทุกบ้านต้องเจอ นั่นก็คือ เรื่องของเสียง จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตได้ วันนี้ซีคอนมีตัวช่วยป้องกัน และแก้ปัญหาเพื่อนบ้านเสียงดังมาให้ลูกค้า และแฟนเพจของซีคอนทุกท่านมาฝาก จะมีอะไรบ้าง ตามไปอ่านกันเลยครับ

 

 

1. อุดช่องโหว่งรอบบ้าน

เสียงรบกวนสามารถเข้ามาในตัวบ้านได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะทะลุผนัง ประตู หน้าต่าง หรือเล็ดลอดเข้ามาตามรอยรั่วต่าง ๆ รอบบ้าน หากสำรวจผนังแล้วไม่พบจุดร้าว หรือจุดรั่ว เมื่อปิดประตูหน้าต่างแล้วยังพบว่ามีเสียงจากภายนอกเข้ามาชัดเจน ลองสำรวจประตูหน้าต่างว่ามีช่องว่างระหว่างวงกบกับประตูหน้าต่างหรือไม่ ถ้ามีควรปิดช่องโหว่ให้เรียบร้อย โดยการใช้ซิลิโคนอุดระหว่างวงกบกับบาน หรือใช้ซีลยางปิดช่องว่างประตู เปลี่ยนหน้าต่างเป็นรุ่นที่มีรอยต่อน้อย และปิดสนิท เช่น หน้าต่างกรอบไวนิล, กรอบอลูมิเนียมแบบบานเปิด (กระทุ้งข้าง) พยายามหลีกเลี่ยงแบบบานเลื่อนสลับ และบานเกล็ด เพราะไม่สามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้

 

 

2. ใช้วอลเปเปอร์ดูดซับเสียง

วอลเปเปอร์นอกจากจะเป็นวัสดุปิดผนังที่ช่วยปกปิดพื้นผิวที่มีร่องรอยให้เรียบร้อยสวยงามแล้ว บางรุ่นยังมีคุณสมบัติช่วยซับเสียงด้วย ทั้งดูดซับเสียงทั้งเสียงจากบ้านเราออกไปข้างนอก หรือเสียงจากบ้านข้าง ๆ เข้ามาในบ้านเรา เช่น วอลล์เปเปอร์แบบหนาชนิด PE Foam, วอลเปเปอร์แบบมีมิติ 3D หนา 10 mm. เป็นต้น สำหรับความสามารถในการช่วยดูดซับเสียง จะทำได้ในระดับต่างกันตั้งแต่ 45% – 85% ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุและความหนาของวอลล์เปเปอร์ครับ

 

 

3. พื้นพรมดูดซับเสียง

เคยสังเกตโรงภาพยนตร์กันไหมครับ สถานที่เหล่านี้นิยมปูพื้นด้วยพรม สาเหตุหลักไม่ได้ เพื่อสร้างความสวยงาม หรือสร้างความหรูหราเท่านั้น แต่พื้นพรมยังมีคุณสมบัติเด่นด้านการดูดซับเสียง หากคุณต้องการสร้างห้อง เพื่อรองรับความบันเทิงภายในบ้าน ห้องดูหนัง ห้องคาราโอเกะ พื้นพรมจะช่วยดูดซับเสียง ลดเสียงสะท้อนกึกก้องได้เป็นอย่างดี

 

 

4. ผ้าม่าน และตู้เสื้อผ้า ผนังกั้นชั้นดีในการดูดเสียง

วิธีการนี้จะเหมาะอย่างยิ่งกับห้องนอนที่อยู่ติดถนนใหญ่ เพราะห้องตำแหน่งนี้มักได้รับผลกระทบมลพิษทางเสียงโดยตรงจากรถยนต์ที่สัญจรผ่านไป ผ่านมา โดยการเลือกผ้าม่านให้เลือกชนิดหนา ๆ ซึ่งจะช่วยลดทอนคลื่นเสียงได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นอาจลองเปลี่ยนย้ายตำแหน่งตู้เสื้อผ้า หรือออกแบบตู้ Built-in ให้ชิดผนังด้านที่มีปัญหา เสื้อผ้าที่แขวนอยู่ และตู้เสื้อผ้า จะทำหน้าที่เสมือนฉนวนกันเสียง ช่วยลดเสียงรบกวนได้ดีระดับหนึ่งเลยครับ

 

 

5. แผ่นซับเสียง กันเสียงเล็ดลอด

สำหรับบ้านที่เน้นความงียบสงบเป็นพิเศษ แผ่นซับเสียงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ป้องกันเสียงดังได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญมีน้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่าย และดูดซับเสียงอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

 

6. ใช้กฎหมายสยบ กลบทุกอย่าง

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยกฎหมาย หากทำทุกอย่างแล้ว และเจรจาอย่างสันติแล้ว เพื่อนบ้านยังเสียงดังเหมือนเดิม ถ้าเพื่อนบ้านส่งเสียงดังเกินกว่า 70 เดซิเบล คุณสามารถร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษทางเสียงที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาจัดการต่อไป

หากเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวนไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย เปิดเพลง หรือสังสรรค์เสียงดังโดยไม่มีเหตุจำเป็น ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตราต่าง ๆ ดังนี้

  • มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียง หรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  • มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

  • มาตรา 90 เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด

สรุปแล้วการที่เพื่อนบ้านทำเสียงดังจนทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ก็สามารถแจ้งฟ้องได้ และเพื่อนบ้านอาจโดนปรับไม่เกิน 5 พันบาท หากเสียงดังต่อหน้าคนจำนวนมาก ก็อาจโดนโทษสูงสุดจำคุก 1 เดือน และปรับ 1 หมื่นบาท ทั้งนี้หากเจอปัญหาเพื่อนบ้านส่งเสียงดังบ่อย ๆ เคยแจ้งเพื่อนบ้านอย่างมีเหตุผลแล้ว และรู้สึกว่าปัญหาไม่ดีขึ้นก็ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าระงับตักเตือน หรือสามารถดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายได้

 

ที่มา: SCG, กระทรวงยุติธรรม, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370, มาตรา 397, มาตรา 90




บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บทความอื่นๆ