การต่อเติมบ้าน เพิ่ม-ลด พื้นที่บ้าน ไม่ใช่แค่ว่าติดต่อช่าง หรือผู้รับเหมาแล้วสามารถทำได้เลยนะครับ เราจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตกับทางเขต อบต. หรือเทศบาลในพื้นที่ด้วย ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ๆ เลยใช่ไหมครับ เพราะการขออนุญาตต่อเติมก็เพื่อให้การก่อสร้างปลอดภัย และไม่เบียดเบียนเพื่อนบ้านนั่นเอง วันนี้ซีคอนนำความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการต่อเติมบ้านแบบถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุญาต มาให้อ่านกัน ตามอ้างอิงจากกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ว่าด้วยรูปแบบการก่อสร้างที่ไม่นับเป็นการดัดแปลงอาคารออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดังนี้
ข้อ 1 การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร คือ
(1) การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
(2) การเปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่น ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10
(3) การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10
(4) การลด หรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใด ให้มีเนื้อที่น้อยลง หรือมากขึ้น รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน
(5) การลด หรือการขยายเนื้อที่ของหลังคา ให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน
(6) การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำ และรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฏหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ
ทั้งนี้ การกระทำตามวรรคหนึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกมาตามมาตรา 13 หรือมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ข้อ 2 การรื้อส่วนอื่นของโครงสร้างของอาคารดังต่อไปนี้ ถือเป็นการรื้อถอนอาคาร คือ
(1) กันสาดคอนกรีตเสริมเหล็ก
(2) ผนัง หรือฝาที่เป็นโครงสร้างของอาคาร หรือผนัง หรือฝาคอนกรีตเสริมเหล็ก
(3) บันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก
(4) พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งแต่พื้นชั้นที่สองของอาคารขึ้นไป
ในกรณีที่มีการรื้อส่วนอื่นของโครงสร้างของอาคารตามวรรคหนึ่ง เพื่อกระทำการตามข้อ 1 ในส่วนที่เป็นการดัดแปลงอาคาร มิให้ถือว่าการรื้อส่วนนั้นเป็นการรื้อถอนอาคาร
เรามาตีความกันในแต่ละข้อกันครับ
(1) การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
หมายถึง โครงสร้างที่เป็นคอนกรีตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นส่วนของ เสา คาน พื้น หรือโครงหลังคา หรือเป็นบ้านปูน หรือบ้านที่ทำมาจากโครงเหล็กจำเป็นต้องขออนุญาตทั้งหมด ส่วนบ้านที่ทำมาจากไม้ และมีโครงสร้างไม้ตั้งแต่แรก สามารถเปลี่ยนไม้ใหม่ได้ โดยต้องมีขนาด จำนวน และชนิดเดียวกันกับของเดิม เช่น เสาไม้สักขนาด 30×30 ซม. จำนวน 5 ต้น หากจะเปลี่ยนต้องใช้ไม้สักขนาด และจำนวนเท่าเดิม กรณีนี้ไม่ต้องขออนุญาต
(2) การเปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่น ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10
หมายถึง ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างของบ้าน เช่น ผนัง ประตู หน้าต่าง ส่วนนี้ไม่นับเป็นโครงสร้างบ้าน สามารถเปลี่ยนได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จำเป็นต้องเป็นวัสดุชนิดเดิม หรือวัสดุอื่นที่มีน้ำหนักน้อยกว่าวัสดุเดิม เช่น ผนังก่ออิฐมอญแดง แล้วทุบเปลี่ยนเป็นอิฐมวลเบา สามารถทำได้เลย เพราะน้ำหนักน้อยกว่าวัสดุเดิม
(3) การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละ 10
หมายถึง การเพิ่มส่วนต่าง ๆ ที่ไม่กระทบโครงสร้าง เช่น การเพิ่มจำนวนหน้าต่าง การปูพื้นกระเบื้อง การเพิ่มเคาน์เตอร์ครัว สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตหากน้ำหนักไม่เกิน 10% ของโครงสร้าง
(4) การลด หรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใด ให้มีเนื้อที่น้อยลง หรือมากขึ้น รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน
หมายถึง การลด หรือเพิ่มพื้นที่ของชั้น 1 หรือชั้น 2 ของบ้านไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน ที่จะไปกระทบโครงสร้าง หากต่อเติมไม่เกินนี้ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต
(5) การลด หรือการขยายเนื้อที่ของหลังคา ให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน
หมายถึง การลด หรือเพิ่มหลังคาบ้านไม่เกิน 5 ตารางเมตร ซึ่งต้องไม่มีคาน หรือเสามารับน้ำหนักเพิ่ม และจำเป็นต้องใช้รูปแบบโครงสร้างหลังคาที่ยึดกับคานโครงสร้างบ้านเดิมเท่านั้น จึงจะไม่จำเป็นต้องขออนุญาต
สร้างได้อย่างที่ฝัน สร้างบ้านกับซีคอน
.
ต้องการคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้านติดต่อเราได้ที่
.
– SEACON Channels –
Tel : 1391
.