ฉนวนกันความร้อน ยอดฮิต

อยู่เมืองไทย ไม่ว่าฤดูไหนก็ร้อน ปัจจุบันบ้านแทบจะทุกหลัง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องติดตั้งฉนวนกันความร้อน โดยมักจะติดไว้ใต้หลังคา บนฝ้า หรือในผนัง เพื่อดูดซับและป้องกันความร้อน หรือต้านทานความร้อนให้เหลือน้อยที่สุดก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมและงบประมาณของแต่ละบ้าน มีแบบไหนกันบ้างเราไปดูกันครับ

 

1.ฉนวนใยแก้วหรือ ไฟเบอร์กลาส ลักษณะเป็นแผ่นหนาหุ้มด้วยแผ่นฟอยล์ ภายในประกอบไปด้วยใยแก้วเส้นเล็กที่ประสานตัวกัน เกิดเป็นช่องโพรงอากาศ ทำหน้าที่เก็บความร้อนไว้ภายใน
ข้อดี น้ำหนักเบา ทนความร้อนสูงทั้งยังช่วยดูดซับเสียง ติดไฟได้ แต่ไม่ลามไฟ ติดตั้งง่าย ราคาปานกลาง
ข้อเสีย เป็นอันตรายต่อคนที่แพ้ จากฝุ่นเศษใยแก้วที่อาจร่วงหล่น หากถุงขาดรั่ว หลังจากการใช้งานไปแล้วระยะหนึ่ง
2.อลูมิเนียมฟอยล์ เป็นวัสดุลักษณะเดียวกับแผ่นฟอยล์ห่ออาหารเพื่อไม่ให้ไหม้ ซึ่งถูกทำให้หนาขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนและรังสียูวี
ข้อดี บาง เบา เหนียว สะท้อนรังสียูวีได้ดี ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ ราคาถูกที่สุด
ข้อเสีย ไม่ป้องกันเสียง ต้องปูติดใต้หลังคา จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. โพลีเอธิลีนโฟม หรือโฟม PE ลักษณะของโฟม PE เป็นแผ่นเหนียวนุ่มมีความหนา หุ้มด้วยแผ่นฟอยล์บาง ๆ เคลือบผิวอีกชั้น
ข้อดี เบา เหนียว แน่น ฉีกขาดยาก ทนสารเคมีและความชื้นได้ดี
ป้องกันความร้อนได้ดี ราคาถูก
ข้อเสีย ติดไฟง่าย ลามไฟง่าย เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายเมื่อถูกเผาไหม้
4. โพลีสไตรีนโฟม หรือโฟม PS สามารถกันได้ทั้งความร้อนและความเย็น มีขายทั้งแบบแยกแผ่นและเป็นฉนวนโฟมที่ติดคู่กับแผ่นยิปซัม
ข้อดี น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย ติดตั้งสะดวกและรวดเร็ว ราคาถูก
ข้อเสีย ติดไฟง่าย ลามไฟง่าย ดัดงอไม่ได้ จึงแตกหักง่ายเหมือนกล่องโฟม
5.โพลียูรีเทนโฟม หรือโฟม PU เกิดจากเทคโนโลยีการฉีดโฟมเพื่อป้องกันความร้อน
ข้อดี มีทั้งแบบแผ่นและแบบพ่น ป้องกันน้ำและความชื้นได้ดี ยึดเกาะ
ได้กับทุกพื้นผิว กันเสียงได้ดี
ข้อเสีย เสื่อมสภาพได้ง่ายหากสัมผัสความร้อนที่สูงเกินไป ทนทานน้อยราคาสูง และติดไฟได้ ง่าย
ทั้งนี้ในท้องตลาดมีฉนวนกันความร้อนให้เลือกมากมาย และผู้ผลิตหลายราย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยป้องกันความร้อนให้กับบ้านครับ ลองพิจารณาและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจนะครับ



บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บทความอื่นๆ