สำหรับคนมีบ้าน การต่อเติมบ้าน ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่สร้างเอง หรือบ้านที่ซื้อจากโครงการจัดสรร พออยู่อาศัยไปสักพักนึงแล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีการปรับปรุงบ้านในส่วนต่างๆ เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอย หรือรูปแบบที่ถูกใจมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงมักมีอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรกคือ การปรับพื้นที่ภายนอก เช่น การปรับลานจอดรถ การต่อโครงกันสาดหน้าบ้านหลังบ้าน ช่วงที่ 2 คือ เพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น เช่น การต่อเติมห้องครัว หรือห้องรับแขกให้กว้างขึ้น และช่วงที่3 คือ เมื่อลูกหลานแต่งงาน พ่อแม่มักจะจ้างช่างให้ต่อเติมเป็นห้องหอ หรือห้องผู้สูงอายุเมื่อแก่ตัวลง
แต่ก่อนที่จะต่อเติมบ้าน อยากให้เจ้าของบ้านพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวต่อไปนี้เสียก่อน
1. ปรึกษาวิศวกรสักนิดก่อนคิดต่อเติม
การต่อเติมบนโครงสร้างเดิม ต้องให้วิศวกรตรวจสอบฐานรากและโครงสร้างเดิมว่าสามารถรับน้ำหนักในการต่อเติมได้หรือไม่ และเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น ควรเลือกวัสดุที่ใช้ต่อเติมเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น ใช้โครงสร้างส่วนต่อเติมเป็นโครงสร้างเหล็ก หรือใช้ผนังเบา เป็นต้น และอย่าคิดว่าการต่อเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งานอีกเพียงเล็กน้อย สามารถไปผูกยึดติดกับโครงสร้างเดิมของบ้านได้ เพราะนั่นเป็นความคิดที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมาในภายหลัง เพราะโครงสร้างบ้านเดิมโดยทั่วไปผู้ออกแบบจะคำนวณน้ำหนักของตัวบ้าน จำนวนคนที่จะเข้าอยู่อาศัย จำนวนเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อกำหนดขนาดของเสาเข็มและฐานรากที่เป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำหนักทั้งหมดของตัวบ้าน ซึ่งขนาดเสาเข็มส่วนใหญ่สำหรับบ้านพักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ นั้น จะนิยมใช้เสาเข็มรูปตัว I ที่มีความยาว 12, 14, 16, 18, 21 เมตร แล้วแต่สภาพของดินในแต่ละพื้นที่ ซึ่งยังไม่ได้มีการคำนวณบวกภาระการรับน้ำหนักที่จะมีการต่อเติมต่างๆ เผื่อเอาไว้ จึงมักปรากฏปัญหาอยู่บ่อยๆ สำหรับบ้านที่ต่อเติมโดยไม่ได้ปรึกษาวิศวกร เช่น บ้านร้าว ทรุด หรือฝนตกแล้วรั่วซึมตามมา ท้ายสุดส่งผลเสียหายต่อตัวบ้านเดิม จนต้องรื้อทุบใหม่หมด ดังนั้นในการต่อเติมที่ถูกต้อง ต้องสร้างส่วนต่อเติมใหม่แยกออกจากโครงสร้างบ้านเดิม ไม่ว่าจะเป็นเสาเข็ม เสา คานและโครงหลังคา
2. รูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรม
2.1 พื้นที่ส่วนต่อเติม ควรมีรูปแบบสอดคล้องกับตัวบ้านเดิม ทั้งด้านวัสดุและหน้าตาของอาคาร โดยสามารถให้ผู้ออกแบบจัดทำรูป 3 มิติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าหลังจากต่อเติมแล้วรูปแบบบ้านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะถ้าท่านไม่เห็นภาพ เมื่อต่อเติมแล้วอาจต้องทนอยู่ในบ้านที่ต่อเติมจนน่าเกลียดไปอีกตลอดชีวิต
2.2 ต้องคำนึงถึงการระบายอากาศภายในบ้านหลังต่อเติม ส่วนมากการต่อเติมมักจะไปปิดช่องทางระบายอากาศของตัวบ้าน ลมไม่สามารถพัดจากหน้าบ้านไปออกหลังบ้านได้ ทำให้อากาศภายในบ้านร้อนมาก จนไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีระบบปรับอากาศ ดังนั้นการต่อเติมต้องพยายามหาช่องให้ลมสามารถถ่ายเทได้ ซึ่งต้องปรึกษาผู้ออกแบบ
2.3 แสงสว่างจากธรรมชาติ การเพิ่มพื้นที่มักจะไปปิดช่องแสงที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน ทำให้ทางเดินส่วนกลางและช่องบันไดมืดตลอดเวลา ทำให้ต้องเปิดไฟทั้งวัน ดังนั้นการต่อเติมต้องพิจารณาถึงการเปิดช่องแสงไว้ด้วย
3. ปัญหาเรื่องกฎหมายและผลกระทบกับบ้านข้างเคียง
โดยทั่วไปการต่อเติมบ้าน ผิดกฎหมายแทบทุกหลัง เนื่องจากตามกฎหมายได้กำหนดพื้นที่ว่างไว้สำหรับอาคารแต่ละชนิด ซึ่งการก่อสร้างก็มักจะสร้างเต็มพื้นที่แล้ว ซึ่งปกติเจ้าหน้าที่ก็รู้ถึงความจำเป็นดังกล่าวจึงไม่เข้ามาวุ่นวาย ยกเว้นกรณีที่มีผู้ร้องเรียน ดังนั้นก่อนที่จะต่อเติม ควรบอกกล่าวบ้านข้างเคียงให้ทราบว่าจะต่อเติมแบบใด เพื่อไม่ให้กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของบ้านข้างเคียง เช่น อย่าต่อเติมจนชิดกับข้างบ้าน หรือต่อเติมแล้วเปิดหน้าต่าง หรือช่องระบายลมไปชิดข้างบ้านจนเสียง, แสง หรือกลิ่นในครัวไปรบกวนข้างบ้าน การระบายน้ำฝนจากส่วนต่อเติมก็ต้องมีรางน้ำ อย่าให้น้ำตกไปฝั่งข้างบ้าน
4. การหาผู้รับเหมา
เลือกผู้รับเหมา ไม่ใช่ดูแค่ราคาที่เสนอเท่านั้น เพราะหลายครั้งผู้รับเหมาจะใช้วิธีเสนอราคาที่ต่ำเพื่อให้ได้งาน แล้วพยายามลดคุณภาพงาน, คิดราคาเพิ่มหรือร้ายสุดคือทิ้งงาน ดังนั้นควรหาผู้รับเหมา โดยดูจากผลงานเก่าๆ หรือถามจากคนรู้จักแนะนำ หรือไปสอบถามจากเจ้าของบ้านว่าผู้รับเหมารายนี้เป็นอย่างไรบ้าง ส่วนการพูดคุยต่อรองราคา รวมถึงการแบ่งงวดงาน จำเป็นต้องอาศัยวิศวกรมาช่วยคุยเพื่อไม่ให้โดนหลอก
วิธีการเหล่านี้อาจจะดูยุ่งยาก แต่เพราะการต่อเติมบ้านนั้นเมื่อทำไปแล้วแก้ไขแทบไม่ได้เลย ถ้าต่อเติมเสร็จแล้วไม่สวยหรือเกิดปัญหาต่างๆ จนไม่สามารถอยู่ได้ ต้องทุบทิ้ง หรือมีปัญหาร้องเรียนจากข้างบ้าน คงไม่คุ้มค่าทั้งเงิน เวลา และความรู้สึก ดังนั้นก่อนจะต่อเติมบ้าน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างถ้วนถี่ จะได้ไม่มาเสียใจภายหลัง
Ref: