“บ้าน” ต้องปลูกสร้างบนที่ดินฉันท์ใด โฉนดย่อมต้องควบคู่ไปที่ดินฉันท์นั้น เรียกว่า ต้องมีโฉนดก่อนถึงจะสร้างบ้านได้นั่นเอง ก่อนที่จะมีบ้านในฝันสักหลัง เรื่องกฎหมายเป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยเสมอ
ที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงมีการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ตลอดเวลา
ทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับ “โฉนดที่ดิน”ในปัจจุบันจะมีขนาด 24 x 36 ซม. กระดาษมีลักษณะเส้นใยพิเศษสีเหลืองผลิตจากต่างประเทศป้องกันการปลอมแปลง มีลายน้ำเป็นรูปครุฑถ้าส่องดู โฉนดที่ดินที่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินคือ โฉนด นส.4จ
โฉนดที่ดินมีข้อมูลอะไรบ้าง
1.ตำแหน่งที่ตั้งของที่ดิน
– ระวาง จะบอกถึงหมายเลขแผ่นระวางแผนที่ซึ่งที่ดินตามโฉนดนั้นตั้งอยู่ เปรียบได้กับสารบัญที่ดินเพื่อบอกว่าที่ดินอยู่ในตำแหน่งใด
ซึ่งต้องใช้ประกอบกับเลขที่ดินเพื่อเป็นการระบุให้ละเอียดว่าแปลงที่ดินในโฉนดนั้นอยู่ในเลขที่ดินอะไรเพื่อให้สามารถระบุตำแหน่งที่ดินเวลาสืบค้นได้อย่างสะดวก
– เลขที่ดิน เป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งของที่ดินที่บรรจุอยู่ในระวางเดียวกันเพื่อให้รู้ว่าที่ของเราอยู่ในตำแหน่งไหนบนระวางที่ดิน โดยเลขที่ดินจะไม่มีซ้ำกันเลยในระวางนั้น ๆ
– หน้าสำรวจ คือลำดับการสำรวจแปลงที่ดินที่ได้เดินสำรวจแล้วในแต่ละตำบล โดยเริ่มนับตั้งแต่ 1 ไปเรื่อย ๆ เมื่อขึ้นตำบลใหม่ก็จะเริ่มหน้าสำรวจที่ 1 ใหม่
ดังนั้นถ้าหากตำบลนั้นเป็นตำบลเล็ก ๆ ก็อาจจะมีหน้าสำรวจที่ซ้ำกันได้ โดยในระวางแผนที่จะประกอบไปด้วยหลายตำบลทำให้ต้องระบุให้ละเอียดว่าอยู่ในตำบลไหนเพื่อไม่ให้สับสนเวลาค้นหา
2. เลขที่โฉนด เลขที่โฉนดจะถูกกำหนดในอำเภอหนึ่ง ๆ โดยไล่จาก 1 ไปเรื่อยจนสุดเขตอำเภอ เมื่อขึ้นอำเภอใหม่ก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่
แฟ้มรวมโฉนดของสำนักงานที่ดิน เก็บรวบรวมโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินเอาไว้ ซึ่งเป็นตัวเดียวกันกับที่เราถืออยู่ เลขที่โฉนดระบุเอาไว้เพื่อให้ง่ายสำหรับการสืบค้น
3. บอกชื่อเจ้าของที่ดินมือแรก ตรงคำว่า…ให้แก่…สัญชาติ…บ้านเลขที่…(ที่อยู่)… ส่วนชื่อเจ้าของที่ดินปัจจุบันนั้นต้องไปดูในสารบัญจดทะเบียนด้านหลัง
4. บอกขนาดของที่ดิน ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ… รายละเอียดการแบ่งที่ดินในสารบัญจดทะเบียนด้านหลัง แสดงในลักษณะ ไร่-งาน-ตร.วา เพื่อให้ง่ายในการอ่านขนาดที่ดิน 1 ไร่ = 4 งาน= 400 ตารางวา 1 งาน = 100 ตารางวา
5. บอกว่าที่ดินแปลงนั้นติดกับอะไรบ้าง ด้วยรูปที่ดินที่ถูกย่อให้เล็กลง ซึ่งในแต่ละหมุดจะมีหมายเลขและตัวหนังสือกำกับเอาไว้
นอกจากนั้นยังบอกอีกด้วยว่าที่ดินผืนนั้นติดกับที่ดินแปลงไหน ติดกับทางสาธารณะ หรือลำคลองหรือไม่ มาตราส่วน ที่นิยมใช้ 1:4,000 1:1,000 และ 1:500 ถ้าอยากทราบขนาดจริงก็สามารถคูณกลับเข้าไป ตำแหน่งทิศ เป็นลูกศรชี้แสดงทิศ
เพื่อให้ผู้ที่กำลังอ่านรูปแผนที่ไม่หลงทิศนั่นอง วันที่ออก เป็นวันที่ออกโฉนดที่ดินฉบับนี้ว่าออกให้ ณ วันที่เท่าไร ลงชื่อเจ้าพนักงานที่ดิน ในโฉนดที่ดินต้องมีการเซ็นชื่อเจ้าพนักงานที่ดินพร้อมประทับตราในทุกฉบับ
6. บอกประวัติบันทึกรายการจดทะเบียนนิติกรรมในโฉนดที่ดิน ว่าที่ดินแปลงนี้ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง เช่น การซื้อขาย การให้ โอนมรดก การจำนอง ภาระจำยอมต่าง ๆ
โดยด้านหลังของโฉนดที่ดินจะมีตารางการเปลี่ยนแปลงสิทธิ ซึ่งสามารถตรวจสอบ ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์คนปัจจุบัน ประวัติการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวสิทธิ ภาระผูกพันที่มีการจดทะเบียนไว้
โฉนดที่ดินหายต้องทำอย่างไร
1.เมื่อรู้ตัวว่าโฉนดที่ดินหายนั้น สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือการไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่าเจ้าของที่ดินนั้นไม่ได้นำโฉนดไป จำนอง ขาย หรือแลกเปลี่ยนเป็นของผู้อื่น
เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่าการจะไปขอออกโฉนดใหม่ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำการทุจริต
2.นำบันทึกประจำวัน ที่ได้รับหลังจากแจ้งความ มาติดต่อกับสำนักงานที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดที่ดินใหม่ ซึ่งหากภายหลังมีการทุจริตเกิดขึ้นจริงบันทึกประจำวันนี้จะเป็นหลักฐานนำไปสู่คดีทางอาญาที่มีโทษร้ายแรงได้
3.ขอมีโฉนดใหม่ ต้องมีพยานรับรอง 2 คน พยาน ทั้ง 2 คนต้องนำบัตรประชาชนตัวจริงไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่สำนักงานที่ดิน
รวมถึงกรอกเอกสารรับรอง พร้อมลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าพนักงานเพื่อรองรับเจ้าของที่ดินว่าการขอออกโฉนดที่ดินใหม่เป็นเรื่องจริง
ซึ่งหากมีปัญหาภายหลังพยานทั้ง 2 คนจะต้องเป็นพยานในชั้นศาลด้วย ดำเนินการขอออกโฉนดใหม่หรือใบแทนหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดิน
เตรียมหลักฐานและเอกสาร ให้เจ้าพนักงานตรวจสอบดังนี้
1.บัตรประจำตัวผู้ขอ
2.ทะเบียนบ้าน
3.พยานพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนอย่างน้อย 2 คน
4.ใบแจ้งความหรือบันทึกประจำวัน
จากนั้นเมื่อเตรียมหลักฐานในการขอโฉนดที่ดินใหม่ หรือ ใบแทนหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเรียบร้อยแล้วก็สามารถไปติดต่อกับสำนักงานเขตที่ดินบนพื้นที่ได้เลย
ซึ่งทุกสำนักงานเขตจะมีขั้นตอนการรับเรื่องขอโฉนดที่ดินใหม่ที่ไม่แตกต่างกัน โดยจะมีค่าธรรมเนียมการขอใบแทนโฉนดที่ดินอยู่ที่ประมาณ 75 บาท (ค่าคำขอ, ค่าติดประกาศ, ค่าใบแทนโฉนดที่ดิน)
ทั้งนี้ โฉนดที่ดินใหม่ หรือ ใบแทน จะมีประทับตราบนเอกสารว่า “ใบแทน” เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเอกสารฉบับนี้สามารถใช้แทนโฉนดที่ดินฉบับจริงได้100%
เมื่อเกิดการทำนิติกรรมหรือมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายที่ดินก็สามารถใช้ใบแทนฉบับนี้ได้ มีผลทางกฎหมายไม่ต่างกัน
ต้องการคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้านติดต่อเราได้ที่
– SEACONhome Channels –
FB Messenger : http://m.me/SeaconHome.Ltd
Line : @seaconhome หรือคลิก http://line.me/R/ti/p/%40seaconhome
https://www.seacon.co.th/
Tel : 02-237-2900
#โฉนดที่ดิน #YoudreamWebuild #สร้างได้อย่างที่ฝันสร้างบ้านกับซีคอนโฮม #รับประกันโครงสร้าง #Seaconhomeรับสร้างบ้าน #รับสร้างบ้าน #สร้างบ้าน #ซีคอนโฮมรับสร้างบ้าน